ทีเซลส์ ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปั้นสตาร์ทอัพ ดันไทยเป็นเมดิคัลฮับของเอเชีย

26/07/2561
          ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ ทีเซลส์  (TCELS)  เปิดเวที  “THAILAND LIFE SCIENCES STARTUP 2018” ปั้น Startup ดาวรุ่งตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแสดงศักยภาพความสามารถของนักพัฒนาไทยสู่เวทีสากลในอนาคต  ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดันไทยเป็นเมดิคัลฮับในภูมิภาคเอเชีย  เฟ้นหาสตาร์ทอัพ 10 ทีมที่ได้คะแนนสูงสุด เพื่อการสนับสนุน Speed Funding ทีมละ 2 แสนบาท โดยจัดขึ้นที่ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561

          ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์  เปิดเผยว่า “ทีเซลส์ (TCELS)  มีบทบาทในการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการและการสร้างธุรกิจ Startup ด้านชีววิทยาศาสตร์  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ผลักดันและส่งเสริมศักยภาพ Startup ไทยสู่เวทีโลก ได้เริ่มดำเนินโครงการในการสนับสนุนและส่งเสริม Startup  ตั้งแต่ปี 2560  โดยเริ่มต้นจากโครงการ “Mini Life Sciences Mentorship Program”  โดยมี Startup สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับการตอบรับอย่างมาก  และได้ขยายแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องมาเป็น “TCELS Life Sciences and MedTech Acceleration Program” โดยมีความร่วมมือจากพันธมิตรภาคธุรกิจและการเงิน ในการบ่มเพาะ พัฒนาระบบ และการร่วมลงทุน (Investment) ในบริษัท Startup โครงการเพื่อให้สามารถก้าวผ่าน Early และ Middle Stage สู่การขยายตลาด”

          “จากความสำเร็จตลอดระยะการเริ่มโครงการแรกมาสู่ปีที่  3 ล่าสุด ทีเซลส์ผนึกความร่วมมือกับ Mass Challenge สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจแก่บริษัทต่างๆ ที่มีนวัตกรรมให้สามารถก้าวสู่เวทีระดับโลก จัดโครงการ Mentor and Startup Bootcamp เพื่อสร้างเครือข่าย Mentor ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมปั้น Startup ดาวรุ่งในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Medical Hub) โดยได้เริ่มดำเนินโครงการเปิดรับสมัครช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และทำการคัดเลือกทีม Startup จากทั้งหมด 42 ทีม และคัดเลือก Startup ที่มีศักยภาพเพียง 20 ทีมเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถในการทำธุรกิจ พร้อมเข้า Pitching คัดเลือกทีมที่ได้คะแนนสูงสุดจำนวน 10 ทีม  เพื่อรับการสนับสนุน Seed Funding ทีมละ 200,000 บาท  และอีก 7 ทีม ที่มีคะแนนสูงสุดจะได้รับสิทธิ์การอบรมเชิงลึกเพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศจาก  Mass Challenge”

          “Thailand Life Sciences Startup โดย ทีเซลส์ จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ใช้ปั้น Startup และยังเป็นหนึ่งในภารกิจของทีเซลส์ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ หรือ บุคคลที่มีแนวคิดในแผนการพัฒนา และนำผลงานมาต่อยอดการพัฒนา พร้อมขยายผลสู่ภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการดันไทยสู่การเป็นฮับด้านเมดดิเคิล  ทั้งยังยกระดับศักยภาพฝีมือคนไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกในอนาคต  ทั้งนี้เชื่อมั่นศักยภาพคนไทยสามารถพัฒนาผลงานที่ใช้งานได้จริงได้ ในอนาคต” ดร.นเรศ  กล่าว

          Brittany McDonough Director of Global Partnerships, MassChallenge  ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจแก่บริษัทต่างๆ ที่มีนวัตกรรมให้สามารถก้าวสู่เวทีระดับโลก  กล่าวว่า  “บริษัทฯ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup และมีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ดำเนินโครงการความร่วมมือการพัฒนา Mentor และผู้ประกอบการ Startup ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup ที่มีฐานเทคโนโลยีที่มีความพร้อมและศักยภาพสูง เพื่อเข้าสู่ธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว  ในโครงการดังกล่าว กระบวนการสำคัญหนึ่ง คือ การเฟ้นหาทีมผู้ประกอบการ Startup ทางด้านชีววิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพ การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้เข้าร่วมโครงการ และสนับสนุนทุนให้ในรูปแบบ Seed fund จึงมีความสำคัญสูงเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์นั่นคือ Startup สามารถเติบโตได้ และการคัดเลือกในลักษณะการประกวดจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความตื่นตัว และสร้างการรับรู้ในวงกว้าง”

          “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup  มีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการประกวดในครั้งนี้  และขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะในการประกวดผ่าน Thailand Life Sciences Startup Contest 2018 ทุกทีม ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตด้วยการพัฒนานวัตกรรม ขอขอบคุณศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ที่เชื่อมั่นในศักยภาพ โดยเชิญ Mass Challenge เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่มีฐานเทคโนโลยีที่มีความพร้อมและศักยภาพสูง เพื่อเข้าสู่ธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว” Brittany McDonough กล่าว

          ทีมที่มีคะแนนสูงสุดอันดับที่ 1-7  จะได้รับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ทีมละ 200,000 บาท และได้รับสิทธิ์เข้าร่วมอบรมหลักสูตร boot camp จาก Mass Challenge เป็นเวลา 5 เดือน (Online training) เพื่อพัฒนาศักยภาพ และหาตลาดจากเครือข่ายMass Challenge (หลักสูตรลิขสิทธิ์ของ Mass Challenge)
  • ทีมที่ 1 ได้แก่ ACNOC  TEAM ผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาสิวจากสารสกัดเปลือกมังคุดไทย
  • ทีมที่ 2 ได้แก่ ทีม D AND N RESEARCH – ผลิตภัณฑ์เคลือบหลุมร่องฟันและวัสดุรองพื้นฟัน
  • ทีมที่ 3 ได้แก่ ทีม KINN WORLDWIDE - มุ่งเน้นตลาดสุขภาพเป็นหลัก โดยเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้จากธรรมชาติผ่านการเพาะเลี้ยงอย่างทันสมัย
  • ทีมที่ 4 ได้แก่ ทีม NEVER EVER FALLS - นวัตกรรมป้องกันการตกเตียงสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ
  • ทีมที่ 5 ได้แก่ ทีม สมูทตี้ - ปั่นที่ไม่ต้องปั่น สามารถทานสมูทตี้ที่ทำจากผักผลไม้แท้ๆ ได้ภายใน 15 นาที โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปั่น ด้วยการใช้เทคโนโลยีการแช่แข็งเร็วยิ่งยวดแบบ IQF
  • ทีมที่ 6 ทีม STEP SOLE-LUTION – ช่วยลดอาการเมื่อยล้าหลังจากการวิ่ง และสามารถวิ่งได้สะดวกขึ้น
  • ทีมที่ 7 ได้แก่ ทีม THE POSSIBLE  - ครีมนวดสมุนไพรแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยนาโนเทคโนโลยี

          อันดับที่ 8-10 จะได้รับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้เติบโต (Seed funding) ทีมละ 200,000 บาท
  • ทีมที่ 8  ทีม MED-ASA - แอปพลิคชั่นสำหรับจิตอาสา สามารถค้นหาข้อมูลและรับทราบกิจกรรมของจิตอาสาต่างๆ ได้
  • ทีมที่ 9 ได้แก่ ทีม MEE PHOME DEE (มีภูมิดี) – First Meal นวัตกรรมอาหารเด็กป้องกันภูมิแพ้อาหาร
  • ทีมที่ 10 ได้แก่ ทีม MUD-MUE-CHOK (มัดมือชก) - น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรเเละดอกไม้ไทย โดยใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อปรับสมดุล ลดความเครียด
Page view : 2342