โปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง

           โปรแกรมบริหารผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) มีภารกิจในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเสริมอาหารด้วยฐานความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

          โปรแกรมฯได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยและธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเสริมอาหารด้วยฐานความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมหลัก คือ การกระตุ้นงานวิจัยและพัฒนาและสนับสนุนโครงการพื้นฐานงานวิจัยและการทดสอบระดับคลินิก การนำงานวิจัยที่เป็นผลสำเร็จถ่ายทอดให้กับภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงการทดสอบระดับคลินิก รวมถึงการจับคู่ธุรกิจและประชาสัมพันธ์งานวิจัยผ่านงานนิทรรศการสำคัญๆที่เกี่ยวข้อง

1. การกระตุ้นงานวิจัยและพัฒนาและสนับสนุนโครงการพื้นฐานงานวิจัยและการทดสอบระดับคลินิก
          งานวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนแบ่งเป็นงานวิจัยมุ่งเป้า และงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร โดยงานวิจัยที่สนับสนุนเป็นงานวิจัยเชิงลึกที่มีการศึกษาทั้งในด้านความปลอดภัย และการทดสอบประสิทธิผลระดับคลินิกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์ความรู้ สารสกัด หรือสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความปลอดภัย และหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านชีววิทยาศาสตร์

          โครงการวิจัยมุ่งเป้าเซรั่มน้ำยางพารา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์” เป็นโครงการที่ศลช.ให้การสนับสนุนและมีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเริ่มวิจัยเมื่อปีพ.ศ.2549 จวบจนปัจจุบัน องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ออกดอกออกผลเป็น กระบวนการผลิตสารสกัดยางพาราครบวงจรระดับกึ่งอุตสาหกรรม และสารชีวภัณฑ์จากเซรั่มยางพาราที่หลากหลาย อาทิ Hb extract สำหรับใช้เป็นส่วนผสมในสูตรเครื่องสำอาง เพื่อให้ผิวพรรณแลดูกระจ่างใสและลดริ้วรอย หรือบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ (ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นกับสภาพผิวของแต่ละบุคคล) เอนไซม์ที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตโอลิโกแซคคาไรด์สายสั้นในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเชิงลึกในระดับสัตว์ทดลอง ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำสารสกัดจากเซรั่ม และกระบวนการผลิตสารสำคัญจากเอนไซม์เซรั่มยางพารา มาใช้เพื่อลดการแพร่กระจายมะเร็ง ต้านอัลไซเมอร์ ดูแลช่องปาก และทางเดินอาหาร ซึ่งการนำสารสกัดจากเซรั่มยางพารามาใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ในกระบวนการเพื่อยื่นประเมินความปลอดภัยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารใหม่ต่อไป งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหารที่ผ่านการทดสอบระดับคลินิกแล้วนั้น จะเข้าสู่กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป

          นอกเหนือจากการสนับสนุนและความร่วมมือในการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์แล้วนั้น  ศลช.ได้สนับสนุนและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในระดับคลินิกมาตรฐานสากล (ICH GCP)” โดยศูนย์ทดสอบฯมีศักยภาพในการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ฤทธิ์ทางชีววิทยาหรือคุณสมบัติของสารสกัด การควบคุมคุณภาพและความคงตัว การศึกษาความปลอดภัยและผลข้างเคียง ผลการทดสอบทางคลินิกตามมาตรฐานการปฏิบัติการวิจัยที่ดีทางคลินิก (Good Clinical Practice, GCP)
 
สถาบันเครือข่ายของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศูนย์ทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในระดับคลินิกมาตรฐานสากล (ICH GCP)

2. งานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Licensing) ข้อมูลเพิ่มเติม...
3. การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม
          โครงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้สามารถเข้าถึงการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกของผลิตภัณฑ์ และมีมาตรฐานสากลพร้อมต่อการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถนำผลิตภัณฑ์สมัครเข้ารับการคัดเลือกสามารถติดตามข่าวสารได้จากเวปไซต์ศลช. โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับ (1) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทดสอบ 70% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (2) รับการฝึกอบรมยกระดับศักยภาพด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (3) สิทธิ์และการสนับสนุนการเข้าประกวดผลิตภัณฑ์และจับคู่ธุรกิจในและต่างประเทศ

4. โครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน (Promoting I with I)
          โครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน เป็นกิจกรรม Business matching ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน โดยมีการให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการรวมทั้งการอบรมการนำเสนอแบบมืออาชีพ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ และนักวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเข้าใจขั้นตอนต่างๆสำหรับสร้างความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.), สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBio) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัย นวัตกร และภาคธุรกิจ ได้เข้าใจ กลไก และได้สร้างเสริมประสบการณ์นำผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ ชีวภัณฑ์ อาหารเสริมทางการแพทย์ เป็นต้น ตลอดจนมีความรู้ในด้านการวิเคราะห์ การเงิน การตลาด และการลงทุน
 
ดาวน์โหลดเอกสาร
hb-extract.png skin.png   about.png
Page view : 4396